เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

[11] “พราหมณ์ ไข่ 8 ฟอง 10 ฟอง หรือ 12 ฟอง ที่แม่ไก่กกหรือฟัก
ดีแล้ว ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลายกระเปาะ1 ไข่ออกมาได้ก่อน ควร
เรียกมันว่า เป็นตัวพี่ หรือตัวน้อง” “ควรเรียกว่า พี่ เพราะมันแก่กว่าเขา”
“เช่นเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ในขณะที่หมู่สัตว์ ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชา
ห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียวเท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมา
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุดของโลก

ฌาน 4

พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มี
กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ

ปฐมฌาน

เราสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร
ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

ทุติยฌาน

เพราะวิตก วิจารสงบระงับไปแล้ว เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น2 ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิเท่านั้นอยู่

ตติยฌาน

เพราะปีติจางคลายไปแล้ว เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนาม
กาย ได้บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

เชิงอรรถ :
1 กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่มีสัณฐานนูนกลม คำว่า “กระเปาะ” คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มี
สัณฐานคล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้
2 เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า “เอโกทิ” เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌาน ชื่อว่า
เอโกทิภาวะ เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุด
ขึ้น” เพราะสมาธิชื่อเอโกทินี้มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. 1/11/143-144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 1 หน้า :5 }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

จตุตถฌาน

เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราได้
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”

วิชชา 3
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

[12] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น ได้
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2
ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง 30 ชาติบ้าง
40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง 10,000 ชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง หลาย
กัปว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี
อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น มีชื่อ มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ 1 ในยามแรกแห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ 1 ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”

จุตูปปาตญาณ

[13] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม